ในสถานการณ์ทั่วโลกมีขยะกว่า 2.01 พันล้านตันเกิดขึ้นในแต่ละปี การเพิ่มขึ้นของจำนวนขยะนั้นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน มีขยะเพียงร้อยละ 16 หรือประมาณ 323 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ในขณะที่ร้อยละ 46 นั้นถูกกำจัดทิ้งอย่างไม่ยั่งยืน
.
ประเทศที่สามารถจัดการกับขยะได้ดีที่สุดคือ ประเทศสวีเดน
สวีเดนเริ่มจัดการกับขยะตั้งแต่ปี 1940 โดยเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มการคัดแยกและรีไซเคิลขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งมากถึงร้อยละ 96 ของขยะทั้งหมด คอยหล่อเลี้ยงพลังงานได้มากกว่า 810,000 ครัวเรือน
.
ประเทศเยอรมนี
เยอรมนีได้ออกกฎหมายควบคุมขยะไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการผลิต จำหน่าย และบริโภค อีกทั้งสนับสนุนการคัดแยกขยะก่อนทิ้งทุกครั้ง และมีการจ่ายเงินให้กับประชาชนที่นำขวดพลาสติกมาคืนให้กับร้านค้าหรือภาครัฐ ส่งผลให้เยอรมนีมีขวดพลาสติกที่ใช้ซ้ำได้มากถึงร้อยละ 64 ของท้องตลาดทั้งหมด แน่นอนว่าส่งผลต่อปริมาณขยะที่ลดลงอีกด้วย
.
สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้นก็มีความพยายามในการลดขยะเช่นกันไม่ว่าจะเป็นประเทศอินโดนีเซียที่เริ่มโครงการในปี 2016 หรือกัมพูชาที่เริ่มเมื่อปี 2019 ด้วยแนวทางเก็บภาษีถุงพลาสติกรวมทั้งแนวทางห้ามใช้งานพลาสติกภายในประเทศ
.
สำหรับขยะในประเทศไทยนั้น ตามรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยจากกรมควบคุมมลพิษพบว่าประเทศมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นทุกปีโดยในปัจจุบันมีปริมาณขยะทั้งประเทศรวมกันอยู่ที่ 27 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยคือทุกวันคนไทยสร้างขยะ 1.14 กิโลกรมต่อคนต่อวันโดยแบ่งเป็น
ขยะอินทรีย์หรือที่ย่อยสลายได้ร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมดที่ส่วนใหญ่เป็นอาหารเหลือทิ้ง
ขยะรีไซเคิลร้อยละ 30 ของขยะทั้งหมด
ขยะทั่วไปที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยากร้อยละ 3 ของขยะทั้งหมด
ขยะอันตรายหรือขยะที่ต้องนำไปกำจัดด้วยวิธีเฉพาะร้อยละ 3 ของขยะทั้งหมด
.
แม้ประเทศไทยจะมีความพยายามในการรีไซเคิลแต่แนวโน้มขยะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจตรวจสอบองค์กรการปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 7,777 แห่ง พบว่ามีเพียง 328 แห่งหรือไม่ถึงร้อยละ 5 ของทั้งหมดเท่านั้นที่สามารถรีไซเคิลและกำจัดขยะได้อย่างถูกวิธี ในขณะที่เหลือนั้นถูกกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องเช่นเทกองทิ้งไว้ ฝังกลบ เผากลางแจ้ง
เผาในเตาเผาที่ไม่มีระบบกำจัดมลพิษทางอากาศ
.
อุปสรรคสำคัญในการกำจัดขยะนั้นอยู่มีอยู่หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นงบประมาณในการสร้างวิธีหรือกระบวน การกำจัดขยะที่ถูกต้องและรวมไปถึงความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน อย่างไรก็ตามทางภาครัฐได้ส่งเสริมแนวทาง 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle โดยมีเป้าหมายที่จะลดขยะให้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี 2027
.
สุดท้ายแล้วเราประชาชนทุกท่านสามารถลดปริมาณขยะได้เองด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และลดการใช้สินค้าประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ใช่แค่สามารถช่วยประเทศไทยได้ แต่ยังสามารถช่วยโลกได้อีกด้วย
.
Comments