เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวของทหารที่กลับมาจากสงคราม และมีอาการตื่นตระหนก วิตกกังวล หรือเครียดจนไม่อาจนอนหลับได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของอาการ PTSD แต่รู้หรือไม่ว่าโรค PTSD ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป เช่นการประสบอุบัติเหตุร้ายแรง การเสียชีวิตกะทันหัน การถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ตัวอย่างงานวิจัยจากสมาคมจิตแพทย์ไทยในเรื่องผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อปีพ.ศ. 2553 พบว่าจากผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 86 คน แม้จะผ่านไป 1 ปีแล้วแต่ยังมี 7 คนที่มีอาการ PTSD อยู่
.
PTSD คืออะไร?
ทางสมาคมจิตแพทย์ไทยกล่าวว่า PTSD ย่อมาจาก Post-Traumatic Stree Disorder หรือที่เรียกว่าโรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย ผู้ป่วยเคยได้รับหรือประสบกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นสงคราม อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรือการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศ
.
อาการของโรค PTSD
เราสามารถสำรวจได้จากทั้งตัวเองหรือคนรอบตัวได้โดยมีสัญญาณต่อไปนี้
การเห็นภาพเดิมซ้ำ ๆ จะทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพหลอน ฝันร้ายและเกิดความวิตกกังวลอย่างรุนแรง
การ Flash Back เหมือนเป็นการกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้งซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเห็นภาพหลอน ทำให้เกิดความตื่นกลัว บางคนอาจมีอาการใจสั่น มือสั่น และเหงื่อออกมาก
มองโลกในแง่ลบ ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่มีความสุข ชีวิตหม่นหมอง มีอาการไม่สนใจในสิ่งที่เคยทำ และอาจร้ายแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
กลัวและพยายามหลีกเลี่ยง ผู้ป่วยจะเกิดความกลัวหากเห็นหรือผ่านสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์เหล่านั้น สิ่งนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความกลัวได้แม้เพียงได้ยินจากผู้อื่น
.
อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้เป็นไปได้หลายโรค และต้องได้รับการประเมินจากทางจิตแพทย์ โดยอาการเหล่านี้จะยังคงอยู่แม้จะเวลาจะผ่านไปนานแล้ว
.
แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้างเมื่อเราหรือคนรู้จักของเรามีอาการหรือของโรค PTSD?
ทางด้านสมาคมจิตแพทย์ได้แนะนำถึงวิธีการเบื้องต้นที่เราสามารถทำกับตัวเองหรือช่วยเหลือ สนับสนุนคนรอบข้างได้ดังต่อไปนี้
.
เรียนรู้และรับมือ นั่นคือรู้จักที่มาที่ไปของโรคและรู้จักกับสิ่งที่สามารถกระตุ้นให้เรานึกถึงเหตุการณ์นั้นได้ ทำให้เราสามารถวางแผนรับมือได้อย่างเหมาะสมกับตัวเราเอง เช่นการรับมือด้วยกิจกรรมที่ทำให้เราสบายใจ หรือเดินทางไปสถานที่ที่เราเคยเจอเหตุการณ์นั้นกับคนที่เราไว้วางใจและเข้าใจเรา
ดูแลสุขภาพจิต การเข้ารับการปรึกษาหรือการบำบัดด้วยการพูดคุยจะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับอารมณ์ที่ เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม นอกจากนี้การได้พูดคุยกับคนที่เคยผ่านเหตุการณ์มาเหมือนกับเราก็สามารถช่วยให้สบายใจ ได้มากยิ่งขึ้น
ดูแลสุขภาพกาย การออกกำลังกายก็สามารถบรรเทาอาการได้ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนที่ทำให้เราผ่อนคลาย
อยู่กับปัจจุบัน ผู้ป่วยบางรายพบว่าการอยู่กับ “บางสิ่ง” ที่เป็นปัจจุบันเช่นสัตว์เลี้ยง หรือสิ่งของช่วยทำให้พวกเขาไม่ย้อนกลับไปในอดีต การพูดอธิบายสภาพแวดล้อมของเราหรือการพูดประโยคที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยซ้ำ ๆ ก็สามารถช่วยได้ เทคนิคเหล่านี้ถือว่าเป็นเทคนิคการดึงความคิดกลับมาสู่ปัจจุบัน
.
ไม่มีใครอยากเศร้าหรือวิตกกังวลตลอดเวลา แต่การช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันจะช่วยให้เราและคนรอบตัวที่เผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงผ่าน ไปได้ ทางเราขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านก้าวผ่านเหตุการณ์ร้ายๆเหล่านี้ไปได้ด้วยดี และกลับมามีความสุขในชีวิตกับคนที่คุณรักอีกครั้ง
Opmerkingen